วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การสอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กอาชีวะ

สำหรับคนที่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ คงมีแนวความคิดตรงกันว่า สิ่งที่สอนนั้นประกอบด้วยทักษะหลักทั้ง 4 ได้แก่ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ส่วนการสอนคำศัพท์ สำนวน หลักไวยากรณ์ หรือิกลยุทธ์การสอนอื่นๆ ก็เป็นเทคนิคที่ครูแต่ละคน นำมาออกแบบการเรียนการสอนของตนให้เหมาะกับบริบทที่ตนมุ่งมั่นให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียน
การเป็นครูสอนภาษาอังกฤษนั้น ผมเองมีความคิดเห็นว่า เราต้องมี
1. องค์ความรู้
2. ออกแบบ
3. อดทน
สองประการแรก ทุกคน คงไม่ปฏิเสธว่า มีความสำคัญ เพราะเราคงต้องมีทักษะ มีความรู้ในเชิงวิชาการ มีความสามารถในทักษะภาษาอังกฤษ โดยสิ่งที่นำมาถ่ายทอดแก่ผู้เรียนนั้น ต้องถูกต้อง ตามหลักการสอนภาษาอังกฤษ ครูจึงควรมีการพัฒนาตัวเองในทักษะภาษาอังกฤษต่างๆ นั้นอยู่ตลอดเวลา ตลอดชีวิต เพราะภาษา เป็นสิ่งมี่การเปลี่ยนแปลง เราจึงควรติตดาม เช่น ภาษาที่ใช้ในอินเทอร์เน้ต เป้นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่า ถูกสร้างขึ้นมาใช้กันในกลุ่มคนในโลกไซเบอร์ แล้วเข้าใจกันได้
ส่วนการที่จะถ่ายทอดให้ผู้เรียนได้เกิดทักษะ หรือมีความรู้ทางภาษา ครูผู้สอนต้องเป็นนักออกแบบการเรียนการสอน กิจกรรมหรือเทคนิคใด ที่จะช่วยให้ผู้เรียน เรียนรู้ได้อย่างง่าย ใช้เวลาน้อย และสนุกที่จะเรียนรู้ นั่นจึงจะยืนยันได้ว่าครูผู้สอนผู้นั้น เก่งจริง ซึ่งต้องอาศัยทั้งประสบการณ์ หลักการ ที่ต้องสั่งสมมา หรือลองใช้ เมื่อเปลี่ยนกลุ่มผู้เรียนไป ก็อาจจะจ้องปรับเปลี่บยนวิธีการไปอีกอยู่เสมอ
ส่วนประการที่สามนั้น บางท่าน อาจจะมองเป็นเรื่องตลกหรือไม่เห็นด้วยกับผม แต่ทำไมต้องอดทน เราก็คงทราบว่า ผู้เรียนในกลุ่มอาชีวศึกษา มุ่งที่จะเรียนด้านวิชาชีพ เน้นการฝึกปฏิบัติ ใช้กล้ามเนื้อ มุ่งเน้นทาง psychomotor มากกว่าทางด้าน Cognitive แต่ที่ว่าต้องอดทน ผมหมายถึง อดทนที่จะให้นักเรียนนักศึกษาซึ่งไม่ชอบเรียนทางด้านภาษา อดทนที่ทำให้เค้าตระหนักถึงความสำคัญของการรู้ภาษา พยายามที่จะบอกเล่าประสบการณ์ ชี้ให้เห็นประโยชน์ที่เขาจะได้รับ หากรู้ภาษาอังกฤษมากกว่าคนอื่นๆ หรือชี้ให้เห็นถึงโลกกว้างว่า ภาษานั้น มีความสำคัญอย่างไร และต้องทำให้เขามีความต้องการที่จะรู้ด้วยตัวเอง
ในฐานะครู เราทุกคนคงมีความคิดที่จะให้ลูกศิษย์ของเราทุกคน มีงานที่ดี มีความรู้ที่จะนำไปใช้ในการทำงานจริง
การสอนภาษาอังกฤษในการอาชีวศึกษานั้น จึงควรนำสิ่งที่พวกเขาต้องพบจริงในชีวิตการทำงาน มาฝึกพูด ฝึกอ่าน ฝึกเขียน ฝึกฟัง และฝึกซ้ำๆ จนผู้เรียนเกิดความเคยชิน แล้วเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้เค้าสามารถพึ่งพาตนเอง ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง สร้างความรู้ด้วยตนเอง และปรับตัวให้สามารถพัฒนาตนเอง ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมยุคเทคโนโลยีสารสนเทศนี้

การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project - Based Learning)

การที่อยู่ในแวดวงการอาชีวศึกษา จึงมีความสนใจในเรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กับนักเรียนนักศึกษา หลังจากคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีนโยบายที่ทำในช่วงปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ ก็มีการปฏิรูปการอาชีวศึกษาด้วยเช่นกัน และนโยบายเรื่องการจัดการเรียนรู้เป็นชิ้นงาน เป็นโครงงาน โครงการ ก็นับว่าเข้าทางสำหรับการจัดการเรียนการสอนด้านวิชาชีพ เป็นอะไรที่พูดได้เลยว่าชัดเจนมาก
แนวความคิดหรือนโยบายนี้ ก็เลยไปสอดคล้องกับหลักการจัดการเรียนรู้ในยุคสังคมฐานความรู้นี้ ซึ่งพูดกันเรื่องการสร้างความรู้ด้วยตนเอง คำว่า constructivism คำว่าการจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และแนวคิดในการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน ซึ่งมีโครงการ Intel @Teach to the Future เคยทำไว้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เรียกว่า Constructionism ซึ่งพัฒนามาจาก Constructivism นั่นเอง ทุกสิ่งทุกอย่างจึงสอดคล้องกัน
ผมในฐานะครูที่สอนในสถาบันการอาชีวศึกษา จึงมีความเชื่อว่า การพัฒนาให้ผู้เรียนได้สร้างงาน ชิ้นงาน แบบที่เรียกว่า การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานนำไปประยุกต์ในการเรียนการสอนกลุ่มวิชาชีพได้ทั้งหมด ออกแบบการเรียนการสอนให้ผู้เรียนทำงาน ชิ้นงาน ได้อย่างเหมาะสม และช่วยพัฒนาผู้เรียนได้เป้นอย่างดี เพราะผลงานที่ผู้เรียนสร้างออกมาได้นั้น ผ่านกระบวนการทำโครงงาน ซึ่งเริ่มมาจากปัญหา การไม่รู้ ความสนใจของผู้เรียนเอง ที่จะค้นหาคำตอบ แก้ปัญหา หรือสร้างความรู้ขึ้น โดยให้มีผลงานออกมา สามารถวัดได้ ครูจึงนำผลงานนั้นมาทำการประเมินได้ รวมทั้งประเมินกระบวนการทำโครงงานของผู้เรียนด้วย การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานนี้ จึงเหมาะสมมากกับการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษา