วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project - Based Learning)

การที่อยู่ในแวดวงการอาชีวศึกษา จึงมีความสนใจในเรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กับนักเรียนนักศึกษา หลังจากคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีนโยบายที่ทำในช่วงปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ ก็มีการปฏิรูปการอาชีวศึกษาด้วยเช่นกัน และนโยบายเรื่องการจัดการเรียนรู้เป็นชิ้นงาน เป็นโครงงาน โครงการ ก็นับว่าเข้าทางสำหรับการจัดการเรียนการสอนด้านวิชาชีพ เป็นอะไรที่พูดได้เลยว่าชัดเจนมาก
แนวความคิดหรือนโยบายนี้ ก็เลยไปสอดคล้องกับหลักการจัดการเรียนรู้ในยุคสังคมฐานความรู้นี้ ซึ่งพูดกันเรื่องการสร้างความรู้ด้วยตนเอง คำว่า constructivism คำว่าการจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และแนวคิดในการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน ซึ่งมีโครงการ Intel @Teach to the Future เคยทำไว้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เรียกว่า Constructionism ซึ่งพัฒนามาจาก Constructivism นั่นเอง ทุกสิ่งทุกอย่างจึงสอดคล้องกัน
ผมในฐานะครูที่สอนในสถาบันการอาชีวศึกษา จึงมีความเชื่อว่า การพัฒนาให้ผู้เรียนได้สร้างงาน ชิ้นงาน แบบที่เรียกว่า การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานนำไปประยุกต์ในการเรียนการสอนกลุ่มวิชาชีพได้ทั้งหมด ออกแบบการเรียนการสอนให้ผู้เรียนทำงาน ชิ้นงาน ได้อย่างเหมาะสม และช่วยพัฒนาผู้เรียนได้เป้นอย่างดี เพราะผลงานที่ผู้เรียนสร้างออกมาได้นั้น ผ่านกระบวนการทำโครงงาน ซึ่งเริ่มมาจากปัญหา การไม่รู้ ความสนใจของผู้เรียนเอง ที่จะค้นหาคำตอบ แก้ปัญหา หรือสร้างความรู้ขึ้น โดยให้มีผลงานออกมา สามารถวัดได้ ครูจึงนำผลงานนั้นมาทำการประเมินได้ รวมทั้งประเมินกระบวนการทำโครงงานของผู้เรียนด้วย การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานนี้ จึงเหมาะสมมากกับการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น